(แฟ้มภาพซินหัว : พยาบาลทำงานในห้องไอซียูที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองชีเสีย มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน วันที่ 12 พ.ค. 2024)
ปักกิ่ง, 24 เม.ย. (ซินหัว) -- อวี๋โป๋ ผู้กำกับภาพยนตร์วัย 41 ปี เคยมองว่าความตายดูเป็นเรื่องไกลตัว แม้เขาจะใช้เวลานานหลายปีในการถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์เฉียดตายในห้องไอซียู แต่แล้วทุกอย่างได้เปลี่ยนไปเมื่อเขาเผชิญภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันขั้นรุนแรงถึง 3 ครั้งภายใน 1 ปีเนื่องจากการดื่มสุราหนักตามงานสังสรรค์ อวี๋จึงตระหนักได้ว่าความตายคือปลายทางเดียวที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ
เมื่อเดือนก่อน อวี๋ลงนามหนังสือเจตนาว่าไม่ประสงค์จะรับบริการทางการแพทย์ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต (living will) ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งกลายมาเป็นหนึ่งในวิธีที่ชาวจีนจำนวนมากขึ้นหันมาบันทึกความต้องการของตัวเองเกี่ยวกับความปรารถนาในช่วงท้ายของชีวิต โดยเขาเลือกที่จะไม่รับการปั๊มหัวใจ การใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือการให้อาหารทางสายยาง หากไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
ในขณะที่จีนเดินหน้าการพัฒนา อายุคาดเฉลี่ยของประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ราว 79 ปีในปี 2024 ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ผู้สูงอายุจำนวนมากมีสุขภาพที่ดีและอายุยืนยาวขึ้น ทว่าโรคเรื้อรังและความท้าทายช่วงบั้นปลายชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นกำลังกระตุ้นให้สังคมหันมาทบทวนเกี่ยวกับการแก่ชราและการเสียชีวิตอย่างมีเกียรติมากยิ่งขึ้น
ท่ามกลางภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงนี้ การวางแผนบั้นปลายของชีวิตเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในบทสนทนาของผู้คนอย่างช้าๆ สิ่งที่เคยถือว่าเป็นเรื่องต้องห้าม อย่างหนังสือแสดงเจตนาฯ และเอกสารแสดงความประสงค์ล่วงหน้ากำลังได้รับความสนใจ เนื่องจากเปิดโอกาสให้แต่ละบุคคลมีสิทธิ์ตัดสินใจด้วยตนเองมากขึ้น และช่วยให้ครอบครัวเข้าใจความต้องการสุดท้ายของคนที่รักได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ผู้ใหญ่ในช่วงอายุ 30-59 ปีที่มีการศึกษา อาศัยอยู่ในเมือง และคุ้นเคยกับเทคโนโลยี คิดเป็น 2 ใน 3 ของผู้ที่ลงนามหนังสือแสดงเจตนาฯ มากกว่า 60,000 คน ซึ่งลงนามกับสมาคมส่งเสริมหนังสือแสดงเจตนาฯ ปักกิ่ง (Beijing Living Will Promotion Association) ที่เดิมรู้จักกันในชื่อแพลตฟอร์ม "ชอยส์ แอนด์ ดิกนิตี" (Choice and Dignity) ตั้งแต่ปี 2010
ชาวจีนเกือบร้อยละ 70 ที่ลงนามหนังสือแสดงเจตนาฯ กับสมาคมดังกล่าวเป็นผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองพัฒนาชั้นนำอย่างกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้คนมีโอกาสเข้าถึงแนวคิดใหม่ๆ และสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อทัศนคติของพวกเขาอย่างมาก
เมื่อความก้าวหน้าปะทะความเชื่อแบบดั้งเดิม
บรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับความตายในจีนยังคงฝังรากลึก ผู้คนมักหลีกเลี่ยงการพูดถึงความตายเพราะมองว่าไม่เป็นสิริมงคล การไม่รักษาตัวเพื่อยืดชีวิตกลับถูกมองว่าเป็นการอกตัญญู หลายครอบครัวจึงยืนกรานให้ดำเนินการรักษาจนถึงที่สุดเพื่อเลี่ยงความรู้สึกค้างคาใจหรือเกรงว่าจะถูกผู้อื่นตัดสิน ทว่านโยบายต่างๆ เริ่มสะท้อนถึงทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน
ในปี 2023 เมืองเซินเจิ้นกลายเป็นเมืองแรกในจีนที่รับรองให้หนังสือแสดงเจตนาฯ เป็นสิ่งถูกกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถปฏิเสธการรักษาแบบรุกรานเมื่อเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิต การเคลื่อนไหวนี้ได้จุดประกายความสนใจอย่างไม่คาดคิด โดยสำนักงานโนตารีรายงานว่ามีจำนวนประชาชนที่ต้องการรับรองความประสงค์ของตนเพิ่มมากขึ้น เช่น คนหนุ่มสาวและคู่รักที่ไม่มีบุตร เนื่องจากพวกเขาให้ความสำคัญกับการคงไว้ซึ่งเกียรติในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต
เมื่อประชากรจีนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 310 ล้านคน รัฐบาลจีนจึงได้ขยายบริการดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่กว้างขึ้นในการตอบสนองต่อความต้องการอันหลากหลายของผู้สูงอายุในประเทศ
หน่วยบริการฮอสพิซในจีนเพิ่มขึ้นจาก 510 แห่งในปี 2020 เป็น 4,259 แห่งในปี 2022 โดยมีโครงการนำร่องขยายครอบคลุมเมืองและอำเภอ 185 แห่ง ทว่าการเข้าถึงบริการเหล่านี้ยังคงไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะพื้นที่ตะวันตกที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ รัฐบาลจึงตั้งเป้าหมายว่าปี 2025 จะจัดตั้งแผนกการดูแลแบบประคับประคองอย่างน้อย 1 แห่งในพื้นที่นำร่อง เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่เมืองและชนบทอย่างทั่วถึง การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนแนวโน้มระดับโลก อาทิ สหรัฐฯ ที่กำลังเปลี่ยนจากหนังสือแสดงเจตนาฯ สู่การวางแผนการดูแลล่วงหน้า
การต่อต้านทางวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่
เซี่ยงเฉี่ยวเจิน พยาบาลแผนกการดูแลแบบประคับประคองในมณฑลเจ้อเจียงและอาสาสมัคร กล่าวว่าผู้ป่วยบางคนโบกมือไล่เรา เหมือนกับการว่าการพูดถึงความตายจะทำให้มันมาถึงเร็วขึ้น แต่การรอจนถึงวินาทีสุดท้ายมักทำให้พลาดโอกาสที่ได้พูดคุยถึงเรื่องนี้โดยสิ้นเชิง เซี่ยงเล่าว่าแม้เธอเองจะยังไม่ได้ลงนามหนังสือแสดงเจตนาฯ แต่ลูกสาวของเธอรู้ความต้องการของผู้เป็นแม่ดี ลูกสาวบอกว่าเมื่อวันนั้นมาถึง เธอจะดูแลให้แม่ได้เข้ารับการรักษาแบบประคับประคองแน่นอน การเข้าใจกันอย่างเงียบนี้ๆ คือสิ่งที่เราสองแม่ลูกหวังสร้างขึ้นในสังคม
อวี๋โป๋เองเผชิญกับแรงต้านเช่นกัน หลังจากเขาโพสต์เกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตนาฯ บนบัญชีวีแชท (WeChat) เพื่อนๆ ของเขาหลายคนรีบโทรหาเพราะคิดว่าเขากำลังป่วยระยะสุดท้าย พวกเขาไม่เชื่อว่าอวี๋ตัดสินใจเช่นนี้เพียงเพราะอยากเตรียมตัวให้พร้อม อวี๋กล่าวว่าความไม่สบายใจต่อความตายแทบจะฝังรากอยู่ในดีเอ็นเอทางวัฒนธรรมของชาวจีน เรากลัวมัน หลีกเลี่ยงมัน และแทบไม่เคยเป็นเจ้าของมันจริงๆ แต่การได้เลือกว่าจะจากโลกนี้ไปอย่างไรควรเป็นสิทธิ์ของเราเอง
อวี๋กล่าวว่าแม้จะเจอแรงต้าน แต่เขายังคงมีความหวัง อวี๋เชื่อว่าคนจำนวนมากขึ้นจะเลือกเดินเส้นทางนี้เช่นกัน และอยากถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเขาผ่านภาพยนตร์ บางทีเราอาจได้เรียนรู้ที่จะพูดถึงความตาย ไม่ใช่เพื่อจมอยู่กับมัน แต่เพื่อใช้ชีวิตอย่างมีสติมากขึ้นเมื่อรู้ว่าความตายคือปลายทางสุดท้าย